TH

ฉลาดอ่านฉลาก ก่อนเลือกซื้ออาหารสุนัข

ฉลาดอ่านฉลาก ก่อนเลือกซื้ออาหารสุนัข
เขียนเมื่อ 21 มิ.ย. 2560   |   โดย ศรุดาภา   |   มีคนอ่านแล้ว 13344 คน

ฉลาดอ่านฉลาก 

ก่อนเลือกอาหารสุนัข


การอ่านฉลากก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้เลี้ยงสามารถใช้เป็นตัวช่วยในการพิจารณาว่าอาหารยี่ห้อไหน ที่จะมีประโยชน์ต่อสุนัขได้ เพราะที่ฉลากข้างถุงอาหารนั้นจะบอกถึงส่วนประกอบและการแจกแจงส่วนประกอบโดยประมาณของโปรตีน ไขมัน วิตามินและแร่อื่นๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และบอกถึงวิธีการให้อาหารสุนัขอย่างถูกต้องด้วย  โดยวิธีการง่ายๆในการเลือกอาหารสุนัขแบบเม็ดคือการอ่านส่วนผสมหรือวัตถุดิบ โดยเฉพาะส่วนผสม 4-5 ตัวแรก เนื่องจากมีกฏหมายกำหนดให้ผู้ผลิตใส่ชื่อส่วนผสมเรียงตามลำดับจากปริมาณมากไปหาน้อย เราจึงดูเฉพาะ 4-5 ตัวแรกก็จะรู้ได้ว่า มีอะไรอยู่ในอาหารเม็ดเล็กๆนี้








 ส่วนประกอบสำคัญที่ควรมีเป็นอันดับต้นๆ


1.สิ่งสำคัญที่จะต้องมีในอาหารสุนัขนั้นคือโปรตีนซึ่งจะต้องได้มาจากเนื้อสัตว์อย่างน้อยๆ 2 ชนิด และเนื้อสัตว์นั้นจะต้องระบุชัดเจนว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใด เช่น Chicken,Beef,Lamp เป็นต้น ถ้าจะให้สุนัขได้รับประโยชน์มากที่สุดควรจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านการอบแห้งก่อนนำมาผลิตเป็นอาหารเม็ดเพราะนั่นหมายความว่าเราจะได้ปริมาณเนื้อสัตว์ที่มากกว่าการเอาเนื้อสัตว์ธรรมดามาผลิต พูดให้เข้าใจง่ายๆว่า ในเนื้อสัตว์ธรรมดานั้นยังมีน้ำและความชื้นเป็นส่วนประกอบอยู่ คุณค่าทางอาหารจะมีไม่เท่ากับการอบแห้งเพราะนำความชื้นออกจากตัวเนื้อหมดแล้วนั่นเอง ส่วนเนื้อสัตว์อบแห้งนั้นจะมีคำว่า Meal ตามด้วยเนื้อสัตว์ชนิดนั้นเช่น Chicken Meal , Beef Mael , Lamp Meal เป็นต้น


2.คาร์โบไฮเดรต ความจริงแล้วสุนัขนั้นเป็นสัตว์กินเนื้อและสุนัขจะได้รับพลังงานจากเนื้อสัตว์และไขมันแต่เหตุผลที่ต้องมีคาร์โบไฮเดรตเข้ามาเป็นส่วนผสมนั้นเพื่อให้การผลิตอาหารสุนัขแบบเม็ดนั้นสามารถจับเป็นก้อนได้ แหล่งคาร์โบไฮเดรตชั้นดีที่ควรมีคือ Rice , Oatmeal , Millet , Amaranth และ  Potato ควรหลีกเลี่ยงแหล่งคาร์โบไฮเดรตจากข้าวโพดเพราะถึงแม้ข้าวโพดจะให้คุณค่าทางโปรตีนแต่สุนัขก็ไม่สามารถย่อยข้าวโพดและนำโปรตีนจากข้าวโพดไปใช้ได้ และการกินข้าวโพดมากๆอาจทำให้สุนัขไฮเปอร์ได้ เพราะสุนัขไม่สามารถนำพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตไปใช้ได้เหมือนมนุษย์ การที่ผู้ผลิตบางยี่ห้อนำข้าวโพดมาเป็นส่วนผสมก็เพียงเพื่อเป็นการเพิ่ม % ของโปรตีนให้มากขึ้นเท่านั้นเอง 


3.ระบุชื่อไขมันที่ชัดเจน และควรจะเป็นไขมันที่มาจากสัตว์ด้วย เช่น chicken fat เพราะสุนัขสามารถนำไขมันสัตว์ไปใช้ได้ดีกว่าไขมันพืช แต่ sunflower oil, canola oil, and flaxseed oils เหล่านี้ก็ยังถือว่าพอใช้ได้ พยายามหลีกเลี่ยงคำกลางๆที่ไม่ระบุชนิดของแหล่งไขมันชัดเจนอย่าง vegetable oil , mineral oil


4.ไม่ควรมีส่วนผสมของ bone เข้ามาด้วย เช่น “...and bone meal” ในภาษาไทยจะเขียนว่า ...และกระดูกป่น อาจจะมีได้แต่ก็ไม่ควรอยู่ในส่วนผสม 4 ตัวแรก 


5.ไม่ควรมีส่วนผสมที่มาจากผลพลอยได้ต่างๆ( by product ) ผลพลอยได้ที่ว่าเช่นพวกขน กีบ จงอยปาก เครื่องใน  หัวไก่ ตีนไก่ กีบวัว เขา ขน หนัง หรืออะไรก็ตามที่เหลือทิ้งหลังจากผ่านกระบวนการชำแหละแล้ว หรือของที่เหลือจากที่คนสามารถบริโภคได้หรือบางอย่างที่คนไม่บริโภคเช่นสมองบางครั้งอาจรวมไปถึงคราบสกปรกหรือเศษผงที่เหลืออยู่ ที่สำคัญเมื่อของเหล่านี้ถูกเลือกว่าจะนำไปทำอาหารสุนัข บางครั้งจะถูกกองทิ้งไว้ถึง 5 วันก่อนส่งไปยังโรงงานผลิตอาหาร  ส่วนผสมพวกนี้มีคุณค่าทางโปรตีนก็จริง แต่เป็นโปรตีนที่สุนัขนำไปใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ พูดง่ายๆคือสามารถวิเคราะห์ค่าของโปรตีนได้มากแต่คุณค่าทางอาหารหรือการนำไปใช้ประโยชน์ของสุนัขมีน้อยมาก  พอยอมรับได้บ้างถ้าไปอยู่ในส่วนผสมอันดับท้ายๆไม่ควรมาอยู่ใน 4 อันดับแรก










ส่วนผสมที่ควรหลีกเลี่ยง


1.วัตถุกันเสียที่ทำจากสารเคมี เช่น "ethoxyquin," "BHA," "BHT," and "propylene glycol" (ซึ่งพบได้ใน โลชั่นทาผิว แชมพู ครีมอาบน้ำ เป็นต้น) วัตถุกันเสียที่ทำจากสารเคมีสามารถช่วยยืดอายุอาหารได้ดีกว่าวัตถุกันเสียที่ผลิตจากวัถุดิบธรรมชาติ หากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับ ไต อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นควรใช้วัตถุกันเสียที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรชาติ เช่น "Mixed tocopherols" จะดีกว่า


2.Synthetic Vitamin K ในฉลากบนถุงอาหารการเติมวิตามิน K สังเคราะห์มักใช้ชื่อว่า "menadione sodium bisulfate," "menadione dimethylprimidinol sulfate," "menadione dimethylprimidinol sulfite" หรือ "menadione dimethylpyrimidinol bisulfite." หรืออาจเขียนสั้นๆว่า 'menadione,' แต่การเติมส่วนผสมนี้ไม่มีความจำเป็นเลยเพราะสุนัขสามารถสร้างวิตามินเคได้เอง (เหมือนกับที่สามารถสร้างวิตามินซีได้เอง) ที่สำคัญส่วนผสมชนิดนี้เป็นพิษต่อสุนัขอีกด้วย


3.Salt หรือ เกลือ เพราะเป็นส่วนผสมที่ไม่มีความจำเป็น ถ้าพบว่ามีการเติมเกลือลงไปก็ควรอยู่ในลำดับท้ายๆ การบริโภคเกลือมากเกินไปในสุนัขสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้


4.Onion หรือหัวหอม ไม่ว่าจะมาในรูปแบบ onion powder หรือ whole onions ถ้าพบว่าเป็นส่วนผสมให้หลีกเลี่ยงไปเลยเพราะหัวหอมเป็นอันตรายต่อสุนัขมาก สามารถทำให้สุนัขตายได้ ไม่มีเหตุผลใดที่จะใส่หัวหอมในอาหารเม็ด แต่ไม่น่าเชื่อ มีผู้ผลิตบางรายใส่ส่วนผสมนี้ลงไปด้วย


5.โปรตีนที่มาจาก ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง รวมทั้งเศษที่เหลือจากการกระเทาะเปลือกหรือการสีข้าวจนทำให้เหลือเป็นเศษเม็ดที่เล็กมากๆซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายนำมาเป็นส่วนผสมเพื่อทำให้อิ่มหรือเพิ่ม %ของคุณค่าอาหาร แต่กลับพบว่าสุนัขไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย


 

ศัพท์ที่มักพบบนฉลากอาหารสุนัข








Contain… : ประกอบด้วย

with …      : ปรุงด้วย

rich in …   : อุดมไปด้วย

paste …    : เคลือบด้วย

full …        : ทำมาจาก....ล้วนๆ

Meat         : เนื้อของสัตว์เช่นวัว แกะ อาจประกอบด้วส่วนที่มีกล้ามเนื้ออยู่ด้วย

Meat meal: ส่วนที่เหลือจากกระบวนการแล่เนื้อ

Meat by-products : อวัยวะภายในของสัตว์ประกอบไปด้วย ตับ กระเพาะ ไตและอื่นๆอาจรวมถึงกระดูกด้วย

Meat and bone meal : ส่วนที่เหลือจากกระบวนการแล่เนื้อ และ Meat by-products อาจมีกระดูกรวมอยู่ด้วย

Lamb     : เนื้อลูกแกะ

Chicken : เนื้อไก่ล้วนแล่ 

Chicken liver : ตับไก่

Chiken/Poultry by-products : เป็นอวัยวะภายในของไก่หรือสัตว์มีปีกหลายชนิดรวมถึงหัวทั้งหัว หงอน และขา

Chicken/Poultry by-products meal : ส่วนที่เหลือจากกระบวนการ by-products

Fishmeal : ปลาบดละเอียด จะมีสารโอเมก้า 3 ที่ช่วยบำรุงขน 

Salmon : เนื้อปลาแซลมอนที่มีสารโอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 ที่ช่วยบำรุงขนมากเป็นพิเศษ

Oatmeal : ได้มาจากข้าวโอ๊ตที่เป็นอาหารที่ดีสำหรับเลี้ยงทารก

Brewer's Rice : ข้าวหักที่ได้จากการสีข้าว(เศษข้าวที่หักและเหลือ)

Soybean Meal : เป็นผลผลิตที่เหลีอจากการทำน้ำมันถั่วเหลือง

Cornmeal : ข้าวโพดทั้งซังป่น

Peanut hulls : เปลือกถั่วเพื่อเพิ่มไฟเบอร์



 การเลือกอาหารให้สุนัขเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากเลือกอาหารที่ดี มีคุณภาพ และให้คุณค่าทางอาหารได้อย่างครบถ้วน อาหารนั้นก็จะเป็นภูมิต้านทานชั้นดีในการป้องกันไม่ให้สุนัขเกิดโรคต่างๆและยังทำให้สุขภาพของสุนัขแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย ผู้เลี้ยงต้องเรียนรู้ที่จะมองข้ามชื่อยี่ห้ออาหารสุนัข คำโฆษณา หรือชื่อสูตรของอาหาร ที่ฟังดูสวยหรู  จำไว้ว่าเราต้องมุ่งไปที่การอ่านฉลากเป็นหลักค่ะ








บทความโดย

www.tailybuddy.com


ข้อมูลบางส่วนมาจาก

www.feedmeplease.com

www.oknation.com

www.dogilike.com


รูปภาพประกอบจาก

www.chaladsue.com

www.ilfattoalimentare.it


TH
รถเข็นสินค้า

รถเข็นสินค้าของคุณว่างเปล่า
สินค้า จำนวน รวม